May 06, 2025
01Top_ไดอิจิอินโช

“สมาคมอสังหาฯ ไทย” มั่นใจปีนี้ทิศทางสดใส / Issue 028, May 2015

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

“สมาคมอสังหาฯ ไทย” มั่นใจปีนี้ทิศทางสดใส

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดปี 2558 อสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฉลุย ฟุ้งเป็นธุรกิจที่สำคัญในการเป็นธุรกิจขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ฟันธงฟองสบู่ไม่แตก เหตุจากธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ

คุณพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2558 ว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขและปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันแล้ว คาดว่าในปีนี้อสังหาริมทรัพย์จะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน พร้อมทั้งคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศที่สำคัญมาก ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร อาทิ ราคายางพาราที่มีการปรับลดราคาในการรับซื้อ เป็นต้น

“หากมองย้อนไปในปี 2556 อสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตที่สูงมาก ถึงแม้ว่าปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 จะมีการชุมนุมทางการเมืองและยอดเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง แต่สิ่งที่น่าแปลกคือยอดโอนไม่ลดลงเลย เนื่องจากในระยะเวลาต่อมาราคาที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คนที่จองไว้แล้วจึงรักษาสิทธิ์ เพราะราคาที่ซื้อถูกกว่า อาทิ เราซื้อคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ซึ่งในช่วงต้นปี 2556 มีราคาเพียงตารางเมตร 90,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาขึ้นไปกว่า 300,000 บาท คนจึงต้องรีบโอนเพื่อเป็นเจ้าของไว้ในราคาที่ถูกกว่า เป็นต้น” คุณพรนริศ กล่าว

คุณพรนริศ กล่าวต่อถึงยอดขายของอสังหาริมทรัพย์ว่า คาดว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการดำเนินการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ตามชานเมืองก็ตามเพื่อรักษาสภาพคล่องของหุ้นบริษัทไว้ ส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็กอาจจะต้องมีการชะลอการลงทุนบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยอดขายน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมามีการเปิดตัวโครงการใหม่หลายโครงการมีมูลค่ารวมแล้วกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท และต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือนในการโอนเงิน รวมทั้งยังจะได้รับปัจจัยเสริมจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการกระตุ้นยอดโอนอีกด้วยอีกด้วย

คุณพรนริศ กล่าวต่อถึงสภาวะฟองสบู่แตกว่า ปัญหานี้ไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรูปแบบการให้สินเชื่อจากธนาคารต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันหลายๆธนาคารมีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมบริหารงาน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนด หรือเงื่อนไขต่างๆ ในการให้สินเชื่อ ธนาคารจะมีมาตรการต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการพิจารณาคัดเลือกที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

สำหรับปัญหาที่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน คุณพรนริศกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาแย่งชิงบุคลากรในหลายๆ ฝ่าย อาทิ ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากบุคลากรภายในองค์กรแล้วยังมีบุคคลภายนอกองค์กร อาทิ ผู้รับเหมาและแรงงาน เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันแรงงานที่ถูกกฎหมายและมีสำมะโนประชากรที่ถูกต้องครบถ้วนมีจำนวนน้อย รวมทั้งมีแรงงานที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติเป็นจำนวนมาก จึงทำให้แรงงานไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างในปัจจุบัน

“ปัจจุบันแรงงานที่นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีเอกสารรับรองที่ถูกต้องครบถ้วนมีจำนวนน้อยพอสมควร ส่วนแรงงานที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวนมาก จึงส่งผลให้กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องมีการพัฒนาและต้องใช้แรงงานเหล่านั้นด้วยเช่นกัน อาจจะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น” คุณพรนริศ กล่าว

คุณพรนริศ กล่าวต่อถึงความพร้อมของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ในการเข้าสู่ AEC ว่า ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยมีความพร้อมในการเข้ามาของ AEC มากกว่าการขยายตลาดไปในต่างประเทศ เนื่องจากขาดปัจจัยเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม CMLV ที่ยังขาดความพร้อมในเรื่องของกฎหมาย ขั้นตอนภาษี ขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งยังขาดกฎหมายการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีไฟแนนซ์รองรับการผ่อนบ้าน ส่วนธนาคารเองก็ไม่รับรองเช่นกัน

ดังนั้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยจึงต้องมองมิติของ AEC ให้มีความเข้าใจ หากคิดที่จะทำการค้าขายอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม AEC ตนมองว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างไรก็ตามประเทศไทยอาจจะได้ปัจจัยเสริมในการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านให้ความเชื่อมั่นสินค้าจากประเทศไทย ทั้งในเรื่องของแบรนด์สินค้า, ราคา และการขนส่งที่สะดวก เป็นต้น

Page Visitor

015661529
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
5226
10617
26851
64348
568659
15661529
Your IP: 18.220.96.228
2025-05-06 11:03
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.