
Biz Focus Magazine เป็นนิตยสารรายเดือนที่ร่วมส่งเสริมนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐ - เอกชน และนักลงทุน
+(662) 399-1388
editor@bizfocusmagazine.com
“อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์” ประกาศศักยภาพคว้ารางวัล CSR-DIW 2014
ยักษ์ใหญ่ธุรกิจผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก “อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์” ได้รับรางวัล CSR-DIW Award ประจำปี 2557 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
คุณกิตติศักดิ์ รังนกใต้ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด (IFC) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกอย่างครบวงจรภายใต้มาตรฐานคุณภาพระดับสากล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการทำ CSR ของบริษัท เกิดจากแนวคิดที่อยากคืน สิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนสังคมด้วยรูปแบบของกิจกรรมและโครงการ ต่างๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาตนเองและชุมชนอันเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ นั่นคือ จุดสำคัญที่ทำให้เราได้รับรางวัล CSR-DIW Award ประจำปี 2557 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมตามโครงการส่งเสริมศักยภาพโรงงานมุ่งสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน
การได้รับรางวัลในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จของการเป็นโรงงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง (CSR-DIW CONTINUOUS) ซึ่งเป็นเครือข่ายในการร่วมดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสู่บริษัทลูกค้า และบริษัทในกลุ่ม supply chain เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และผู้จัดหาวัตถุดิบของบริษัทต่อไป โดยรางวัลดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัทที่กล่าวว่า “มุ่งมั่นสู่การเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของลูกค้าด้านผลิตภัณฑ์กระดาษลูกฟูก ด้วยการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนบนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
คุณกิตติศักดิ์ กล่าวถึงการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลว่า บริษัทดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล (ISO26000) ครอบคลุมต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ด้านการศึกษาและเยาวชน 2. ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3. ด้านกีฬา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น 4. ด้านสังคมและชุมชน
นอกจากนี้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดรูปแบบกิจกรรมให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวปฏิบัติหลัก 7 หัวข้อคือ 1. การกำกับดูแลองค์กร 2. สิทธิมนุษยชน 3. การปฏิบัติด้านแรงงาน 4. สิ่งแวดล้อม 5. การดำเนินอย่างเป็นธรรม 6. ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7. การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน
“จะเห็นได้ว่าแต่ละหัวข้อล้วนมีความสอดคล้องต่อการดำเนินการของทุกฝ่ายในองค์กร ไม่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้สอดคล้องและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มลภาวะ ต่อสังคมและลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชื่อเสียงของบริษัทที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและลูกค้า....และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งดีๆ ที่ทำให้พนักงานทุกคนได้มีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรซึ่งทำประโยชน์ให้กับสังคม” คุณกิตติศักดิ์ กล่าว
{gallery}Biz_Interview/2015/bfi_024/interfiber/photo{/gallery}
อาปิโกเล็งเนรมิตโรงงานใหม่ Q2
อาปิโกเปิดแผนธุรกิจปีมะแม จับมือพันธมิตรจากโปรตุเกสเนรมิตโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ 40 ไร่ที่นิคมอุตฯ เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ดในไตมาส 2 ด้วยงบลงทุนราว 500 ลบ. รองรับการเติบโตของอุตฯ ยานยนต์เต็มสูบ วางเป้ารายได้ปีนี้ 1,600 ลบ.พร้อมประกาศความสำเร็จ 3 ทศวรรษ “อาปิโก กรุ๊ป” โดยฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
คุณเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด(มหาชน) หรือ AH หนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศด้านการผลิตและออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน OEM เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในปีนี้ว่า บริษัทมีแผนที่จะก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 40 ไร่ โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท SODECIA จากประเทศโปรตุเกส เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปั๊มขึ้นรูปและบอดี้พาร์ทป้อนให้แก่ค่ายรถยนต์ฟอร์ด ในโครงการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ หรืออีโคคาร์เฟส 2
รวมทั้งเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไป ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนในการดำเนินการประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณไตรมาส 2 พร้อมทั้งมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี และจะเริ่มผลิตสินค้าในปี 2559
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศเพิ่มอีกด้วย ขณะนี้มองไปที่ประเทศมาเลเซีย, อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นหลัก เพื่อต้องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบัน ค่าแรงงานและราคาวัตถุดิบในประเทศไทยแพงกว่าประเทศที่กล่าวมา รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะระดับวิศวกรรมหรือผู้จัดการ ซึ่งหายากมาก โดยแตกต่างจากประเทศอินเดียที่จะหาได้ค่อนข้างง่ายกว่า อีกทั้งยังมีโรงงานผลิตเหล็กเอง ส่วนประเทศมาเลเซียยังมีจุดแข็งกว่าประเทศไทยคือประชาชนทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากมีโอกาสที่เหมาะสม บริษัทจะเริ่มดำเนินการอย่างทันที
คุณเย็บ ซู ชวนกล่าวต่อว่า ในปี 2558 กลุ่มบริษัทอาปิโกครบรอบ 30 ปีในการดำเนินธุรกิจหรือ 3 ทศวรรษ โดยเริ่มก่อตั้งบริษัท เอเบิล ออโตพาร์ท อินดัสตรีส์ (อาปิโก) จำกัด ในปี 2558 ซึ่งดำเนินธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด ต่อมาในปี 25538 ได้ก่อสร้างโรงงานแห่งแรกเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้เริ่มผลิตสินค้าในปี 2540 โดยลูกค้ารายแรกคือ Auto Alliance Thailand (AAT)
สำหรับการดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระยะแรกมียอดขายประมาณ 100 ล้านบาท หลังจากนั้น บริษัทมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายสูงสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่ 1,600 ล้านบาท และในปี 2557 ที่ผ่านมายอดขายลดลงเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีก 5% หรือมียอดขาย 1,600 ล้านบาท
“เราเริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดเป็นเวลา 10 ปี หลังจากนั้นฟอร์ดได้เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย เราจึงได้มีการขยายธุรกิจใหม่คือรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เราถือว่าเราเติบโตเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 15 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 150 เท่าจากยอดขายในปีแรก 100 ล้านบาท ในปัจจุบันเราผลิตสินค้าป้อนให้กับค่ายรถยนต์ทุกค่าย โดยรถยนต์ทุกคันจะมีชิ้นส่วนยานยนต์จากอาปิโกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, ฟอร์ด, อีซูซุ มาสด้า และฮอนด้า เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ 3 ทศวรรษ เราถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มากมาย เช่น ต้มยำกุ้ง, แฮมเบอร์เกอร์, น้ำท่วม, สึนามิ และความวุ่นวายทางการเมืองในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ธุรกิจรถยนต์ดร๊อปลงถึง 35% เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เราจะต้องผันวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยจะต้องมีการพัฒนาคน พัฒนาวิธีการดำเนินงาน พัฒนาเครื่องจักร และการเงิน โดยการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตและมีผลกำไร ส่วนในปีนี้ เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีวิกฤตอีกหรือไม่ แต่เราต้องคิดและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ไว้ตลอดเวลา” คุณเย็บ ซู ชวนกล่าว
รพ.กรุงเทพระยองคว้า 3 รางวัล “Thailand Energy Award”
รพ.กรุงเทพระยองโชว์ความสำเร็จคว้ารางวัล Thailand Energy Award ดีเด่น 3 รางวัลใหญ่ ด้านบุคลากรผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้บริหารอาคารควบคุม และด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารควบคุม จากกระทรวงพลังงาน
นายแพทย์วสุ ริจิรานุวัตร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง ได้รับรางวัล “Thailand Energy Award” 3 รางวัล ในปี 2013 และปี 2014 จากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นอาคารควบคุมด้านการบริหารจัดการพลังงาน โดยรางวัลแรกได้รับในปี 2013 โดยนายสิริวงศ์ คงเทพ หัวหน้าแผนกวิศวกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง ได้รับรางวัลด้านบุคลากร ประเภทผู้รับผิดชอบด้านพลังงานอาคารควบคุมดีเด่น
ส่วนในปี 2014 ได้รับ 2 รางวัลคือ นพ.นรินทร์ บุญจงเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง (คนเก่า) ได้รับรางวัลด้านบุคลากร ประเภทผู้บริหารอาคารควบคุมดีเด่น และได้รางวัลด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารควบคุมดีเด่น ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งหมดของโรงพยาบาล
นายแพทย์วสุ กล่าวถึงการบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จจนได้รับทั้ง 3 รางวัลว่า เริ่มต้นจากแนวคิดว่าทำไมถึงมาจัดการด้านพลังงาน เนื่องจากเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และโรงพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน ต้องช่วยกันดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน
ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพระยองได้นำหลักการ 3 ส่วนมาใช้ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย หลักการแรก “Hardware” คือ อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลจะเลือกใช้เฉพาะที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยในการลดการใช้พลังงานได้ เช่น พลังงานที่ใช้มากที่สุดของโรงพยาบาลคือ ระบบปรับอากาศ โดยจะเลือกใช้ Chiller หรือเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงที่ช่วยประหยัดและลดการใช้พลังงานได้
หลักการที่สอง “Systemware” คือระบบในการจัดการพลังงานทั้งหมด ไม่ใช่มีแต่อุปกรณ์อย่างเดียว แต่ต้องมีระบบที่จะไปบริหารจัดการด้วย และหลักการสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดคือ “Peopleware” คือ บุคลากร เพราะสิ่งที่จะไปจัดการเรื่องระบบหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหมดคือคน ตั้งแต่ในส่วนของวิศวกรรมเองที่จะต้องมีความรู้ความสามารถมาจัดการได้ ซึ่งตรงนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วจากการได้รับรางวัลผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน และไม่ใช่แค่วิศวกรรมที่เป็นคนทำเรื่องพลังงานเท่านั้น ทุกระดับในองค์กร เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด ท่านผู้อำนวยการ ทีมงานที่รับผิดชอบด้านต่างๆ ไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการทุกคน
“เรามีเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน มีการให้ความรู้สร้างจิตสำนึก และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในโรงพยาบาล ซึ่งการได้รับรางวัลไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักว่าทำแล้วต้องได้รางวัลหรือเพื่อให้ได้รางวัล แต่เราทำเพราะต้องการให้มีการอนุรักษ์พลังงานจริงๆ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมจริงๆ และต้องทำให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ตามหลักการ 3 ข้อ นี้คือแนวคิดหลักที่ต้องทำให้ต่อเนื่อง” นายแพทย์วสุ กล่าว
22 ปี โตว่องไวเปิดตัวปั้นจั่น 9 ขา นวัตกรรมใหม่ของโลก
โตว่องไวครบรอบ 22 ปี โชว์ศักยภาพเปิดตัวปั้นจั่นตอกเสาเข็ม 9 ขา นวัตกรรมใหม่ของโลก รุกตลาด AEC ตั้งเป้าปีนี้ 15 คันเน้นงานวิจัยเป็นหลัก ดันโครงการ “We Care Concept” ทางเลือกใหม่สำหรับนักธุรกิจ
คุณไพศาล ว่องไวกลยุทธ์ ประธานกรรมการ บริษัท โตว่องไว จำกัด ผู้ผลิตรถตอกเสาเข็มสิทธิบัตรแรกของโลก เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปี บริษัทได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่และจดสิทธิบัตรแล้วคือ ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม 9 ขา ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศได้ อีกทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในช่วงปลายปีนี้อีกด้วย
สำหรับปั้นจั่นตอกเสาเข็ม 9 ขา เป็นนวัตกรรมใหม่รายแรกของโลกที่บริษัทคิดค้นขึ้นมาสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง เดินลงน้ำได้โดยไม่ต้องทำนั่งร้าน ตอกและเจาะได้ด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถสโลปตั้งได้ภายใน 1 นาที ที่สำคัญคือราคาถูกทนทานและมีน้ำหนักเบาเพียง 16 ตัน
คุณไพศาลกล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายรถตอกเสาเข็มไว้ที่ 15 คัน เนื่องจากบริษัทมีธุรกิจหลายประเภท อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงต้องลดเป้าหมายลงแต่มาเน้นการทำวิจัยมากขึ้น เพื่อประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกมาทดแทนของเก่าเพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพ น้ำหนักเบาราคาถูกลง ทั้งนี้คาดว่าปี 2559 จะสามารถกลับมามียอดจำหน่ายได้เท่าเป้าหมายเดิมคือ 70 คัน
"สำหรับตลาดต่างประเทศ ขณะนี้รถตอกเสาเข็มมีแนวโน้มสดใสมาก โดยเฉพาะตลาดในเมียนมาร์ ซึ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องถนนภายในประเทศและสะพานต่างๆ โดยเฉพาะสะพานที่ไม่สามารถรองรับรถบรรทุกขนาด 30-40 ตันได้ รับได้แค่ 16 ตัน เราจึงไม่สามารถนำรถตอกเสาเข็มแบบเดิมเข้าไปได้ อีกอย่างคือเรื่องรถที่จะใช้เคลื่อนย้ายในเมียนมาร์ ซึ่งหายากมาก ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม 9 ขาจึงเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาในเมียนมาร์ได้เพราะมีน้ำหนักเบา สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นดินโคลนและใช้เวลาการติดตั้งไม่นาน ส่วนตลาดในประเทศลาว ล่าสุดบริษัทได้เซ็นลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับทางคหบดีทางการค้าในประเทศลาว เรื่องการเป็นตัวแทนรถตอกเสาเข็มให้กับบริษัท โตว่องไว จำกัด” คุณไพศาลกล่าว
คุณไพศาลกล่าวต่อถึงโครงการสำหรับคนอยากทำธุรกิจรถตอกเสาเข็ม “We Care Concepts” ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจอยากลงทุนในธุรกิจก่อสร้างเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมียอดขายรถจากโครงการนี้ ณ สิ้นปี 2558 ประมาณ 250 ล้านบาท หรือประมาณ 50 คัน
ทั้งนี้ โครงการ “We Care Concept เป็นคอนเซ็ปต์งานที่โตว่องไวคิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการทำธุรกิจรถตอกเสาเข็ม โดยเน้นที่นักธุรกิจหรือนักลงทุนซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับรถตอกเสาเข็มมาก่อน มีความสนใจอยากลงทุนในธุรกิจ โดยมีการอบรมทั้งด้านการบริหาร การตลาด และการบำรุงรักษารถ