April 27, 2024

Biz Focus Industry Issue 102, July 2021

ธนบุรีประกอบรถยนต์ พร้อมรับเทรนรถไฟฟ้า สนองความต้องการของตลาดในอนาคต

ธนบุรีประกอบรถยนต์ เผยปี 2563 เดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาด้วยดี ปี 2564 มุ่งเตรียมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย หลังเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้เลือกให้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อซัพพลายให้โรงงานประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งในและต่างประเทศ คาดจะสามารถเริ่มขึ้นไลน์ประกอบรถไฟฟ้าได้ในปี 2565

คุณวีระชัย เชาว์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด 

คุณวีระชัย เชาว์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันทุกคนยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งสำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ (บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด) ที่ธนบุรีประกอบรถยนต์เป็นผู้ดำเนินการผลิตก็ได้รับผลกระทบในส่วนของยอดขายที่ลดลง 30-40% รวมถึงจำนวนการผลิตที่ลดลง ทำให้การนำเข้าของชิ้นส่วนอาจติดปัญหาในเรื่อง Shipment เรือที่จองได้ยาก ซึ่งแม้จะเป็นปีที่ค่อนข้างลำบาก แต่บริษัทก็สามารถดำเนินการผ่านมาได้ด้วยดี

สำหรับการดำเนินงานในปี 2564 ปัจจุบันกระแสหรือเทรนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ โดยทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก นับเป็นรายแรกๆ ที่นำเข้ารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 รุ่น ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้วางแผนเตรียมการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเช่นกัน 1-2 ปีข้างหน้า โดยบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อซัพพลายให้โรงงานประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2561 และแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ให้รองรับความต้องการในประเทศและการส่งออก ซึ่งโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ถือเป็นโรงงานแห่งแรกที่อยู่นอกประเทศเยอรมัน ปัจจุบันมีการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่แล้ว 2 รุ่น ซึ่งเมื่อปี 2563 เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้เริ่มส่งออกแบตเตอรี่จากประเทศไทยไปประเทศเยอรมันแล้ว อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีแผนที่จะผลิตเพิ่มอีก 2-3 รุ่น เพื่อใช้กับรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่หลากหลาย ทั้งรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดจ์ และรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต บริษัทมีแผนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2564

คุณวีระชัย กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565 โดยตามปกติประเทศไทยจะช้ากว่าที่เยอรมันประมาณ 1 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ทางเยอรมันได้เริ่มดำเนินการผลิต อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานเพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ต้องผ่านกระบวนการของปลั๊กอินไฮบริดก่อน เนื่องจากปลั๊กอินไฮบริดมีส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียนรู้แบตเตอรี่จากปลั๊กอินไฮบริดเพื่อให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยและเข้าใจมากขึ้น จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตรถไฟฟ้าได้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนกระบวนการพัฒนารถอย่างหนึ่ง

หากในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ เป็นที่นิยมของผู้คน และรัฐบาลสนับสนุน รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดก็จะกลายเป็นทรานซิซั่น เพียงแต่ ณ ปัจจุบันยังระบุไม่ได้ว่าจะใช้ระยะกี่ปีที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาเต็มรูปแบบในประเทศไทย แต่สำหรับทางยุโรปซึ่งมีนโยบายอย่างชัดเจนในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ได้คาดการณ์ไว้ภายในปี 2584 ว่าน่าจะไม่มีรถประเภทอื่น ซึ่งอาจจะเร็วกว่านั้น จากอัตราเร่งโดยเฉพาะตลาดรถยนต์จากจีน และเทสล่า

คุณวีระชัย กล่าวถึงการเติบโตของรถไฟฟ้าในอนาคตว่า การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าคือการเข้าไปทดแทนรถยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งบ้างก็ว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตต่อเนื่องและไปทดแทนรถยนต์ทั้งหมดนั้น ขึ้นอยู่กับ Infrastructure ที่ทางภาครัฐเตรียมให้ โดยเฉพาะตัว Charging Station ที่ต้องมีเหมือนกับปั๊มน้ำมันที่มันมีอยู่ทุกถนน ซึ่งถ้าเราอยากให้รถไฟฟ้ามาเต็มรูปแบบ 100% สิ่งที่ต้องเตรียมคือสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า โดยต้องใช้เวลาพอสมควรในการดำเนินการให้สมบูรณ์

ขณะเดียวกันอีกสิ่งที่สำคัญคือ ด้านราคารถไฟฟ้าที่ต้องดูว่าแพงหรือถูกกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน หากราคาไม่แพงและเข้าถึงผู้คนได้ จะง่ายต่อการซื้อ ซึ่งในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ และการเก็บภาษี อย่างเช่นฝั่งยุโรปที่มีการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าน้อย และมี Incentive สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพิเศษ ทำให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน นอกจากนี้ ด้านคุณภาพของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ เช่น แบตเตอรี่สามารถวิ่งได้ในระยะทางยาวขึ้น และชาร์จได้เร็ว ซึ่งตอนนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ทำได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ต่อไปอาจจะมีแนวโน้มการพัฒนาเพิ่มเป็น 600-800 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ส่วนการชาร์จตอนนี้อยู่ที่ 40 นาที และต่อไปอาจพัฒนาให้ลดลงเหลือ 35, 30 และ 20 นาที โดยหากปัจจัยดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ก็จะสร้างความสะดวก และทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ คุณวีระชัย กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์รวมทุกชนิด ภายในประเทศไทยมีการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.6-2 ล้านคันต่อปี โดยมีจำนวนยอดขายในประเทศทุกชนิดประมาณ 8 แสน–1 ล้านคันต่อปี ตามตลาดในประเทศไทย และมีการผลิตส่งออกครึ่งหนึ่งคือ 8 แสน-1 ล้านคันต่อปี ซึ่งนี่คือภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยตามปกติ ยกเว้นปี 2563 ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนการผลิตตกลงมาเหลือ 1.3 ล้านคันต่อปี  โดยจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 6 แสนคัน และส่งออกต่างประเทศที่ 7 แสนคัน ซึ่งก็เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมจริงๆ ต้องใช้เวลากี่ปี เพราะตอนนี้โควิด-19 ยังอยู่กับเรา และไม่รู้ว่าจะอยู่อีกนานแค่ไหน ซึ่งหากมันหายไปได้คงใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ที่จะกลับมาเท่าเดิม แต่อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตามแนวโน้มในเรื่องจำนวนอาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญในสถานการณ์แบบนี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ แนวโน้มที่ของรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น เทรนทั่วโลกตอนนี้มันค่อนข้างแรง และเริ่มมีหลายแบรนด์ที่เข้ามาทำโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเราก็ต้องดูต่อไปว่ารถไฟฟ้าจะมาทำตลาดและเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยได้มากแค่ไหน” คุณวีระชัยกล่าว

คุณวีระชัย กล่าวว่า ธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ธนบุรีพาณิชย์ กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทแม่ โดยเริ่มต้นเป็นผู้นำเข้ารถเบนซ์มาจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว และนับเป็นเวลานานกว่า 80 ปี ที่บริษัทได้สร้างชื่อเสียงของเมอร์เซเดส-เบนซ์ให้คนไทยรู้จักมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเมื่อ 40 ปีที่แล้วนอกจากบริษัทจะนำเข้ารถยนต์แล้ว ยังมีการสร้างโรงงานแห่งแรก อันเป็นโรงงานผลิตรถบัสที่นำเอาเครื่องยนต์ของเบนซ์มาทำ โดยรถบัสที่บริษัทผลิตก็คือรถโดยสารขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ก็มีการรื้อถอนโรงงานไปแล้ว และได้สร้างเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่พึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ส่วนโรงงานที่บริษัทดำเนินการประกอบรถยนต์ในปัจจุบันเป็นโรงงานแห่งที่ 2 สร้างมาเมื่อปี 2539 แต่ในขณะนั้นโชคไม่ดีนัก เนื่องจากเมื่อโรงงานสร้างเสร็จก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดีในปี 2540 จึงยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ต่อมาหลังจากปี 2541 ทางเบนซ์เยอรมันได้มาตั้งบริษัท MB Thailand ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายรถเบนซ์เอง ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ได้เป็น Distributor แต่ยังคงสาขาขายรถอยู่ ซึ่งปัจจุบันมี 3 สาขาคือราชดำเนิน ลุมพินี และงามวงศ์วาน แต่ทั้งนี้ด้วยความสัมพันธ์อันยาวนานกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงตกลงกันเพื่อใช้โรงงานแห่งที่ 2 นี้ประกอบรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยบริษัทก็เริ่มประกอบรถตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Sunday, 17 July 2022 11:31
BizFocus

Selfies labore, leggings cupidatat sunt taxidermy umami fanny pack typewriter hoodie art party voluptate. Listicle meditation paleo, drinking vinegar sint direct trade.

www.themewinter.com

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.

Page Visitor

010633492
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
988
4975
31010
128108
137776
10633492
Your IP: 18.226.28.197
2024-04-27 05:53
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.