April 27, 2024

Biz Focus Industry Issue 110, March 2022

กรมการแพทย์ ก้าวสู่ 8 ทศวรรษแห่งความสำเร็จ พร้อมพุ่งเป้าหมาย “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”

กรมการแพทย์ ชูการดำเนินงานปี 2565 ต่อยอดการปรับตัวเป็น Open Platform เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อปรับทิศทางโรงพยาบาล พร้อมสนองนโยบายกระทรวง ด้วยการดูแลคนไข้แบบ VIP มุ่งพัฒนา OPD, IPD และอาหารผู้ป่วย ขับเคลื่อนทุกโรงพยาบาลในสังกัดเป็น Smart Hospital ภายในปี 2565 ตอกย้ำเป้าหมายกรมการแพทย์ ในโอกาสสถาปนาครบรอบ 80 ปี “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีที่กรมการแพทย์สถาปนาครบรอบ 80 ปี โดยในโอกาสนี้กรมฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมคือ “ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม” เป็น “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” รวมถึงมีเป้าหมายการพัฒนาคือ ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ซึ่งแผนการดำเนินงานของปีนี้ ยังเป็นการต่อยอดจากปีที่ผ่านมา ด้วยความท้าทายในเรื่องโควิด-19 ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงต้องปรับตัวให้เป็น Open Platform โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดเชิญชวนบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข อาทิ กลุ่มตัวแทนผู้ป่วย ภาคประชาสังคม หรือ NGO เข้ามาเป็นกรรมการกำกับทิศของโรงพยาบาล เพื่อวางทิศทางการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มารับการรักษาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

ประกอบกับกรมการแพทย์จะมุ่งดูแลคนไข้แบบ VIP ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดต้องเป็น Smart Hospital ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยคนไข้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลใดในสังกัดกรมการแพทย์ จะสามารถดูประวัติการรักษาต่างๆ ของตนเองได้บนมือถือผ่านระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ให้คนไข้สามารถดาวน์โหลด ลงทะเบียน เพื่อดูข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพของตนเอง และยังสามารถ Telemedicine คุยกับแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ หรือรักษาโรคที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลได้ โดยโรงพยาบาลจะทำการจัดส่งยาไปให้ตามอาการของคนไข้ทางไปรษณีย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดการรอคอยให้คนไข้ได้มากขึ้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการดูแลคนไข้แบบ VIP มาจาก V : Valuable การเพิ่มคุณค่าในการดูแล I : Impressed ทัศนคติที่ดี ให้คนไข้รู้สึกดีเวลาเข้ามารับบริการ และ P : Professional การดูแลแบบมืออาชีพ โดยกรมการแพทย์จะมุ่งปรับปรุง พัฒนาทุกด้านให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด พร้อมกับพัฒนาเสริมสร้างภาพลักษณ์ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.Smart OPD หรือผู้ป่วยนอก ที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดูสวยงามขึ้น เพื่อให้คนไข้ที่มารับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ไม่แออัด ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงในส่วนนี้แล้ว 2.Modernized IPD หรือผู้ป่วยใน จะมีการติดเครื่องปรับอากาศ พร้อมเครื่องระบายอากาศที่ดีทุกห้อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อม เปลี่ยนความรู้สึกของคนไข้ให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องรักษาตัวภายในโรงพยาบาล

3.Food Quality จะปรับปรุงเรื่องของเวลาในการเสิร์ฟอาหาร เพื่อให้คนไข้ได้ทานอาหารที่ร้อน ใหม่ และตรงเวลา โดยในการปรับปรุงเรื่องอาหารเราจะใช้คอนเซ็ปต์ 3 ข้อ คือ Safety : วัตถุดิบในการประกอบอาหารมีคุณภาพดี ปลอดสารพิษ Healthy : เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับอาการของคนไข้ และ Happy : อาหารต้องอุ่นตลอดเวลา มีเมนูให้คนไข้เลือก เพื่อให้คนไข้รู้สึกดี

“นี่จะเป็น 3 เรื่องสำคัญ ที่กรมการแพทย์เราเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่มารับบริการรู้สึกได้ว่า บริการดีๆ ไม่ได้มีเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ก็เป็นแผนภาพรวมในปี 2565 ซึ่งเป็นโอกาสที่กรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปี นอกจากนี้ ในเรื่องของโควิด-19 กรมการแพทย์ยังเน้นเตรียมในเรื่องของยาที่ใช้ในการรักษาต่างๆ โดยเจรจากับผู้ผลิตยาเพื่อจัดสรรยาให้เพียงพอ รวมถึงทำยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในเด็กมีเพิ่มขึ้นมาก ทั้งยังจะเน้นเตรียม Community Isolation โรงพยายามสนามสำหรับเด็ก และแรงงานต่างด้าวเพื่อรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะยังมีอยู่ในปี 2565 ด้วย” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ส่วนการพัฒนา หรือยกระดับการรักษาพยาบาลในแต่ละโรค กรมการแพทย์มีแผนที่จะพัฒนาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ที่จะมีการต่อยอดเรื่องการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง หรือการตรวจ HPV Self Test เนื่องจากเราเห็นความสำคัญของผู้หญิง ที่อาจไม่กล้าเดินทางไปตรวจด้วยตนเอง กรมการแพทย์จึงได้มีการออกแบบชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเก็บตัวอย่างหรือสิ่งส่งตรวจทางช่องคลอดด้วยตัวเองที่บ้าน แล้วส่งสิ่งตรวจที่ได้ไปที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ตรวจทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยตรง

ขณะเดียวกัน ยังมีการทำคลินิกมลพิษออนไลน์ โดยโรงพยาบาลนพรัตน์ได้พัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน ทำให้เราสามารถเช็คอาการต่างๆ ได้ หากมีอาการผิดปกติจากมลพิษ ถือเป็นการคัดกรองตนเองในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีเรื่องของกัญชา ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยกัญชานานาชาติ และมีหน่วยงานจากหลากหลายประเทศ อย่างเช่น เกาหลี สิงคโปร์ ต้องการเข้าร่วมในด้านการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งแต่เดิมมียุโรปและอเมริกาเป็นพันธมิตรอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในเรื่องของยาเสพติด ที่ต้องนับเป็นเรื่องหลักอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยเรามีการประมวลกฎหมายใหม่ออกมาว่า ผู้เสพยาเสพติดที่มียาเสพติดในครอบครองไม่เกิน 15 เม็ดถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดเยอะขึ้น กรมการแพทย์จึงเตรียมการรองรับ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และพัฒนาแอปพลิเคชัน “ห่วงใย” ขึ้น ปัจจุบันมีการทดลองใช้แล้วในสถาบันธัญลักษณ์แล้วหลายแห่ง ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยยาเสพติดนอกโรงพยาบาลได้ และผู้ป่วยยังสามารถปรึกษาแพทย์ได้อย่างสะดวกด้วย

ขณะที่ด้านผู้สูงอายุ กรมการแพทย์มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “สูงวัย” โดยเป็นแอปพลิเคชัน Health Literacy ที่ให้ข้อมูลว่าผู้สูงวัยต้องดูแลตนเองอย่างไร ทั้งยังสามารถคัดกรองตนเองได้ว่าอยู่ในสถานะไหน หากจำเป็นก็สามารถที่จะพูดคุยกับแพทย์ได้ ซึ่งการที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น จะสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการบริการคือ “การให้บริการทุกที ทุกเวลา” ด้วย ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ กรมการแพทย์จึงอยากให้ญาติพี่น้อง หรือลูกหลานมามีส่วนร่วมด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องเทคโนโลยียังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากบางส่วนยังต้องใช้เอกสารให้ผู้สูงอายุ ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของญาติในการมาช่วยดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับบทบาทของกรมการแพทย์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่สำคัญทั้งสิ้นต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับกรมการแพทย์ถือเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดำเนินการกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ บทบาทหลักของกรมการแพทย์ยังคงเป็นเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นการที่เราจึงพยายามผลักดันการดำเนินงานให้เป็น Open Platform ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมเสนอแนะ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันการรักษาพยาบาลให้เป็นทุกที่ทุกเวลา ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ นี่จึงเป็นบทบาทเล็กๆ ของกรมการแพทย์ที่จะทำร่วมกับภาคีเครือข่ายในปีนี้

“ผมพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เราจึงพยายามเปิดให้เป็น Open Platform ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน แล้วคนในกรมก็จะมีนโยบายแบบ Bottom Up คือข้างล่างสามารถสะท้อนข้างบนได้ เพราะว่าการที่เรากำหนดนโยบายแบบ Top Down มันไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด ก็ต้องให้มีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของเราเอง คนข้างนอก คนไข้ หรือแม้กระทั่งญาติคนไข้ อันนี้จะเป็นส่วนที่ดีที่สุดเมื่อร่วมมือกัน แต่ทั้งนี้เป้าหมายของทุกภาคส่วนที่ตั้งไว้จากเดิมคือ ‘ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม’ เปลี่ยนมาเป็น ‘ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต’ เราต้องมาเคลียร์ให้ชัดเจนตรงกันก่อน ถ้าเปลี่ยนมาคิดตรงกันได้ก็จะดี และทำงานได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์จะพยายามตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ด้วยการดูแลทุกที่ทุกเวลา โดยให้ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมเป็นหลักในการทำงานร่วมกัน และตอนนี้เราเองก็พยายามฝากวัฒนธรรมในการเอาคนไข้เป็นหลัก ถ้าเราคิดตรงกัน ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนี้ นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

www.dms.go.th

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Sunday, 17 July 2022 11:35
BizFocus

Selfies labore, leggings cupidatat sunt taxidermy umami fanny pack typewriter hoodie art party voluptate. Listicle meditation paleo, drinking vinegar sint direct trade.

www.themewinter.com

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.

Page Visitor

010634025
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1521
4975
31543
128641
137776
10634025
Your IP: 3.128.78.41
2024-04-27 08:52
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.