ม.มหิดล สร้างสรรค์นวัตกรรมสิทธิบัตร 'Deep Inspire' ลดถ่ายซ้ำ X-ray ปอด สู่ทางรอดผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี AI
“ภาพหนึ่งภาพมีความหมายยิ่งกว่าคำพูดนับพัน” กล่าวไว้ในสุภาษิตจีนโบราณ ในขณะที่เมื่อใช้กับทักษะและความใส่ใจในการภาพถ่ายทางการแพทย์ หมายถึงการเพิ่มโอกาสในการ “รอดชีวิต” ของผู้ป่วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ไขแสง ชูแสงสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำให้ภาพถ่ายทางการแพทย์ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคปอด หัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ ได้ทราบถึงร่องรอยที่นำไปสู่โอกาสในการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น
จากการประยุกต์ใช้ AI กับความเชี่ยวชาญของนักรังสีเทคนิคในการเตรียมผู้ป่วยถ่ายภาพ X-ray ให้ได้ตามมาตรฐาน ได้นำไปสู่นวัตกรรมสิทธิบัตร “Deep Inspire” ที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพของภาพ X-ray ผ่านการเก็บข้อมูลภาพเอกซเรย์อาสาสมัครที่มารับบริการที่งานรังสีเทคนิค ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ “Deep Inspire” มีความถูกต้องแม่นยำถึงร้อยละ 94
รองศาสตราจารย์ ดร.ไขแสง ชูแสงสุนทร ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของชื่อนวัตกรรมสิทธิบัตร “Deep Inspire” ว่าภาพ X-ray ปอดที่ได้มาตรฐานเกิดจากการที่ผู้ป่วยหายใจเข้าให้ “ลึก” หรือ “Deep inspiration” จนกระทั่งกระบังลมลดต่ำจนเห็นซี่โครงซี่ที่ 9 ถึง 10 ปรากฏในเนื้อปอดชัดเจน นวัตกรรม “Deep Inspire” จึงได้รับแรงบันดาลใจจากการตรวจสอบการหายใจแบบ Deep inspiration ในภาพ X-ray ปอดตามหลักการข้างต้น โดยใช้หลักการเรียนรู้เชิงลึก หรือ Deep Learning มาช่วยในการวิเคราะห์คุณภาพของภาพเอกซเรย์
แม้เทคนิค Deep Learning ผ่านระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ จะช่วยตรวจสอบคุณภาพของภาพ X-ray ปอดได้อย่างแม่นยำ เหมือนมีนักรังสีเทคนิคมากประสบการณ์มาช่วยดูภาพ X-ray ช่วยลดโอกาสการถ่ายภาพซ้ำ แต่ “ทักษะการสื่อสาร” และ “ความใส่ใจ” ต่อผู้ป่วยของนักรังสีเทคนิคในการให้บริการแก่ผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ได้ภาพ X-ray ที่ดีที่สุด และช่วยเพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วย
นายอิษฏ์ สุบินมงคล นักรังสีการแพทย์ (ผู้ชำนาญการพิเศษ) และอาจารย์พิเศษภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแกนนำร่วมวิจัย ได้กล่าวถึงเทคนิคในการใช้ “Deep Inspire” ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดว่า จะต้องศึกษาประวัติการถ่ายภาพรังสีของผู้ป่วย พร้อมซักซ้อมการหายใจให้ดีก่อนเข้ารับบริการ
โดยได้จัดทำเป็นคลิปวีดิทัศน์ที่เข้าใจง่ายไว้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจระหว่างรอถ่ายภาพ X-ray พร้อมช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงวัย และผู้ที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยจะให้เวลาในการทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการถ่ายภาพ X-ray อย่างไม่เร่งรีบ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในการถ่ายภาพ X-ray จนได้ผลที่ดีที่สุดก่อนส่งต่อถึงมือแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัย
จากความมุ่งมั่นสร้างสรรค์และพัฒนาของทีมวิจัย “Deep Inspire” ได้นำไปสู่ทิศทางการต่อยอดขยายผลโดยครอบคลุมปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ได้ภาพ X-ray ที่ดีที่สุด และลดความเสี่ยง ตลอดจนงบประมาณที่จะต้องถ่ายซ้ำมากจำนวนครั้ง อาทิ การจัดท่า (Positioning) และลดสิ่งแปลกปลอม (Artifact) ในภาพ X-ray ซึ่งนับเป็นปัจจัยมีความสำคัญเช่นกัน
ก้าวต่อไป ทีมวิจัย “Deep Inspire” เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์ถ่ายภาพ X-ray ชั้นนำระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสนใจติดต่อเข้ามา รวมทั้งใช้ประกอบการเรียนการสอนนักศึกษาภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ได้เรียนรู้และฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความชำนาญในวิชาชีพ และต่อยอดพัฒนานวัตกรรม ดังเช่นที่ผ่านมาได้ส่งทีมนักศึกษาภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าประกวดจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจากเวทีวิชาการระดับประเทศ
และท้ายที่สุด จะทำให้ “Deep Inspire” กลายเป็นนวัตกรรมที่นักรังสีเทคนิคทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมาจากพื้นฐานในระดับใดก็ตาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ และเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ สะดวก และปลอดภัยให้ได้มากที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th