
Biz Focus Magazine เป็นนิตยสารรายเดือนที่ร่วมส่งเสริมนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐ - เอกชน และนักลงทุน
+(662) 399-1388
editor@bizfocusmagazine.com
ทาทา สตีล ชูความพร้อมความปลอดภัยโรงงาน ย้ำเหตุระเบิด รง. นิคมมาบตาพุด
ปลอดสารเคมีรั่วไหล ไร้ผู้บาดเจ็บรุนแรง เตรียมเชิญหน่วยงานรัฐตรวจสอบความพร้อม
บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด หนึ่งในบริษัทผลิตเหล็กในเครือ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ขานรับมาตรการแก้วิกฤตโรงงานจากหน่วยงานรัฐ พร้อมเปิดเผยสถานการณ์หลังเหตุการณ์วิกฤตเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ ยังพร้อมให้หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน และชุมชนโดยรอบเข้าตรวจสอบโรงงานเพื่อเรียกความมั่นใจของคนในชุมชนกลับมาอีกครั้ง
นายพรชัย ตั้งวรกุลชัย – ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด เผยว่า บริษัทได้เร่งแก้ปัญหาวิกฤตเตาหลอมเหล็กระเบิดที่ผ่านมา เพื่อเรียกความมั่นใจของชุมชนโดยรอบ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขตามมาตรฐานโรงงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ โรงงานได้ปฏิบัติตามมาตรการของการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในการจัดการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉินแล้ว อันได้แก่ การระงับยับยั้งและควบคุมเหตุการณ์ผิดปกติ หรือภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ การหยุดกิจกรรมกระบวนการผลิตบริเวณเตาหลอมไฟฟ้า ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง การปรับปรุงระบบแจ้งเหตุและรายงานสถานการณ์ ไปยังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมภายคุณภาพภายในเวลาที่กำหนด การจัดตั้งทีมสอบวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ โดยได้รับการรับรองรายงานดังกล่าวจากหน่วยงานที่ให้การรับรองความปลอดภัย (Third Party) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจัดทำกำหนดการซักซ้อมมาตรการแก้ไขภาวะฉุกเฉินและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นแนวทางการจัดการในอนาคต
นายพรชัย กล่าวเพิ่มว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สิน เช่น หลังคา ผนังอาคารโรงงานในส่วนการผลิตเหล็กแท่งบางส่วน และสิ่งสำคัญคือส่งผลด้านร่างกาย มีพนักงานโรงงานได้รับบาดเจ็บ 4 คน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุดโดยการเร่งนำส่งโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดระยอง ปัจจุบันผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน มีอาการปลอดภัย สามารถกลับบ้านได้แล้ว ส่วนอีก 1 คนอยู่ในระยะพักฟื้นจากแผลไฟไหม้และการบาดเจ็บที่แขนอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ พนักงานที่ได้รับบาดเจ็บได้รับสิทธิการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ และบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านมาตรฐานความปลอดภัยแล้วว่าไม่พบสารเคมีรั่วไหล อันจะส่งกระทบต่อชุมชน อย่างไรก็ตาม บริษัทรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจต่อชุมชน และคาดหวังให้เหตุการดังกล่าวเป็นบทเรียนสำคัญในการป้องกันและพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ลำดับต่อไป บริษัทเตรียมเรียนเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันของโรงงาน ตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และมาตรฐานโรงงานในระดับสากล เพื่อตอกย้ำจุดยืนการเป็นโรงงานที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อชุมชน นายพรชัย กล่าวสรุป
กนอ.เผยสถานการณ์อุทกภัย 3 นิคมฯ อยุธยายังอยู่ในระดับปกติ
พร้อมสั่งศูนย์เตือนภัยรายงานผปก.แบบเรียลไทม์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 นิคมฯ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) ชี้ทุกแห่งระดับน้ำ และปริมาณน้ำไหลผ่านยังอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้ ยังได้เผยถึงมาตรการของการป้องกันอุทกภัย อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วม การรายงานจากศูนย์เตือนภัย รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกแห่งได้เตรียมการไว้อย่างเต็มที่
นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานปฎิบัติการ 1) เปิดเผยว่า กนอ.ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยสูง โดยการเตรียมความพร้อมในขณะนี้ได้สั่งการไปยัง 3 นิคมฯ ดังกล่าว รวมถึงนิคมฯอื่นๆ ให้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและการติดตามสถานการณ์ประจำวันแล้ว เช่น การตรวจสอบระดับน้ำในคลองรอบนิคมฯ ตรวจสอบและซ่อมแซมเขื่อน/คันดินรอบนิคมฯ รวมถึงให้ติดตามข่าวสารและข้อมูลพยากรณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงการเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์น้ำและมาตรการเตรียมความพร้อมในนิคมฯ ทั้ง 3 แห่ง มีดังต่อไปนี้
อัตราการระบายน้ำรวมทั้ง 3 เขื่อนเท่ากับ 1,729 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีการก่อสร้างเป็นแนวคันดินแบบผสมผสาน ระดับของคันดินอยู่ที่ +7.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (MSL) รวมความยาวเขื่อน 7 กิโลเมตร สำหรับ มาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยของนิคมฯ สหรัตนนครปีนี้ ล่าสุด ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำฝนและรางระบายน้ำฝน ภายในนิคมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ประกอบการทราบอยู่เป็นระยะ และได้ร่วมมือกับกรมชลประทานมาร่วมให้ข้อมูลแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม นอกจากนี้ ในปัจจุบันนิคมฯ ยังได้เตรียมปั๊มสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง ประกอบด้วย ปั๊มไฟฟ้าขนาด 5,400 ลบ.ม./ชม. จำนวน 3 เครื่อง (อยู่ที่สถานีสูบน้ำฝน) ปั๊มเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชม. อยู่บริเวณเขตอุตสาหกรรมทั่วไป (ติดตั้งแล้ว) กำลังสูบรวม 17,400 ลบ.ม./ชม. ซึ่งเครื่องสูบน้ำทั้ง 5 เครื่อง สามารถใช้งานได้ 100%
ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการนิคมฯ บางปะอิน โดยตรวจเช็คระดับน้ำ บริเวณจุดวัดระดับน้ำด้านนอกนิคมฯ ที่กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวัง 3 จุด ได้แก่ จุดวัดระดับน้ำหน้าอำเภอบางปะอิน(หลังเก่า) ประตูน้ำคลองจิก และประตูน้ำคลองเปรมประชากร ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำ มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ และขณะนี้ได้จัดเตรียมสถานีสูบน้ำไว้ 4 สถานี โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 18 เครื่อง ความสามารถการสูบ เท่ากับ 32,400 ลบ.ม./ชั่วโมง รวมทั้งมีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำสำรองอีกจำนวน 3 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชั่วโมง ซึ่งสถานีสูบมีการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน (GENERATOR) ขนาด 450, 500 และ 800 KVA ที่ติดตั้งไว้ทุกสถานีพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง
ด้านความสูงของคันดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ระดับสูงสุดของเขื่อนอยู่ที่ +6.00 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล รวมระยะทางของคันดินกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งรูปแบบเขื่อนเป็นเขื่อนดินบดอัดแน่นพร้อมผนังคอนกรีตเสริมความลาดเอียงของคันดิน ป้องกันการซึมและการกัดเซาะของน้ำด้วยแผ่น Geotextile นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉิน และศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และรายงานสถานการณ์ทุกวันต่อศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. โดย นิคมฯ ได้สื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในได้ทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน โดยแจ้งข่าวสารให้ทราบผ่าน www.bldc.co.th แบบเรียลไทม์
โดยได้ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก รายงานสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำประจำวันจากชลประทานพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพบว่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บ้านหว้าเมื่อช่วงปี2554 ได้มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมตามเกณฑ์การออกแบบที่ กนอ.ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรกำหนด โดยความสูงของคันดินอยู่ที่ระดับ+5.40เมตร เหนือระดับน้ำทะเล รอบพื้นที่โครงการมีสันคันกว้าง2.50เมตรและฐานกว้าง10.60เมตร รวมระยะทางของคันดินกว่า 11กิโลเมตร รวมถึงยังได้จัดเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์/เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible pump จำนวน 5 เครื่อง อัตราสูบ 10,800 ลบ.ม./ชม. รวมความสามารถสูบ 54,000 ลบ.ม./ชม. และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ใช้น้ำมันดีเซลรองรับ นายวิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นาย โบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ร่วมบูรณาการกับกนอ.และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ในการหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 93 เครื่อง ติดตั้งในจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 54 จุดทั่วพระนครศรีอยุธยา และรถสูบน้ำจำนวน 3 คัน 2. เตรียมพร่องน้ำจากลำคลองเพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่งและอยู่ในระดับที่ปลอดภัย 3.การรายงานสถานการณ์ทุกวัน เพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในได้ทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน และตรวจเช็คปริมาณน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงจะทราบปริมาณน้ำ เพราะต้องประเมินจากปริมาณของฝนที่ตกลงมาก่อน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561 หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
กรอ. เผยยอด ร.ง.4 เขตอีอีซี เดือนมิถุนายน โตเฉียด 250%
พร้อมโชว์ยอดจัดตั้ง – ขยายโรงงานครึ่งปี เอสเอ็มอี ลงทุนคึกคัก!!
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผยยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงาน (ร.ง.4) เดือนมกราคม - มิถุนายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,504 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 168,523.69 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในครึ่งปีที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในส่วนของการจดประกอบและขยายกิจการของกลุ่ม SMEs พบว่า กลุ่มที่ขยายกิจการมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 13,523 ล้านบาท เป็น 14,361 ล้านบาท หรือประมาณ 6.2% และในส่วนของการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มูลค่าการลงทุนเติบโตขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2,820 ล้านบาท เป็น 9,863.24 ล้านบาท หรือเกือบ 250%
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและ การขยายกิจการ (ร.ง.4) ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2561) พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 2,504 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มที่ขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 2,043 โรงงาน กลุ่มขยายกิจการ 461 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 168,523.69 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขออนุญาตประกอบและขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 30,592 ล้านบาท อุตสาหกรรมพลาสติก 13,067 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง 12,552 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 10,600 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 9,966 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า การขออนุญาตประกอบกิจการและการขยายกิจการใหม่มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.52% มูลค่าการลงทุนลดลง 31.38% ซึ่งในปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันมีจำนวนโรงงานที่ขอใบอนุญาตและขยายกิจการทั้งสิ้น 2,491 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 221,401 ล้านบาท
ในด้านการจดประกอบและขยายกิจการของกลุ่ม SMEs มีการจดประกอบและขยายกิจการใหม่ จำนวน 2,325 โรงงาน จากเดิม 2,287 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1.66% มูลค่าการลงทุน 57,405 ล้านบาท จากเดิม 57,126 ล้านบาท เติบโต 0.49% แบ่งเป็น
นอกจากนี้ จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในช่วงไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น การขออนุญาตประกอบและขยายกิจการ มีจำนวนทั้งสิ้น 53 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเติบโตขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2,820 เป็น 9,863.24 ล้านบาท หรือเกือบ 250% โดยในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการจดประกอบและขยายกิจการจำนวน 10 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 3,111.29 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 24 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 1,363.35 ล้านบาท และจังหวัดระยอง จำนวน 19 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 5,388.60 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ 5 อันดับจังหวัดที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร 207 โรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ 174 โรงงาน จังหวัดชลบุรี 116 โรงงาน จังหวัดปทุมธานี 95 โรงงาน และจังหวัดนครปฐม 83 โรงงาน ส่วนจังหวัดที่มีการขยายโรงงานมากที่สุดคือ จังหวัดสมุทรปราการ 43 โรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร 40 โรงงาน จังหวัดปทุมธานี 30 โรงงาน จังหวัดชลบุรี 27 โรงงาน และจังหวัดระยอง 23 โรงงาน นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า พื้นที่ที่มีมูลค่าการลงทุนจดประกอบและขยายกิจการมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ 13,720 ล้านบาท จังหวัดปราจีนบุรี 13,412 ล้านบาท จังหวัดนครปฐม 10,819 ล้านบาท จังหวัดระยอง 10,605 ล้านบาท และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 10,076 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4076 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
กรอ. ชู 4 มาตรการคุมโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 โรงทั่วไทย
เผย “มือถือ” “แผงวงจร” “คอมพิวเตอร์” คว้าแชมป์ปริมาณสูงสุด
กรอ. โชว์โรงงานต้นแบบพร้อมรถโมบายล์บดย่อยรีไซเคิล “อีเวสท์” สุดล้ำสมัย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โชว์ 4 มาตรการเพื่อคุมเข้มการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1. มาตรการพิจารณาอนุญาตโรงงานเพื่อประกอบกิจการกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2. มาตรการออกใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 3. มาตรการยกระดับความปลอดภัยและศักยภาพของเสีย และ 4. มาตรการรับมือด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้ปัจจุบันมีโรงงานที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนทั้งสิ้น 7 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 148 โรงงานที่มีการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยปริมาณนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ส่วนใหญ่ขยะดังกล่าวกว่า 98% ประกอบด้วย 1. โทรศัพท์มือถือ 2. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี กรอ.ยังได้ลงพื้นที่ตรวจโรงงาน มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ และได้นำนวัตกรรมรถโมบายล์ที่ใช้ในการบดย่อยและกำจัดมลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ และตั้งแต่ประกอบกิจการไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนจากชุมชนรอบข้าง
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E – Waste ประมาณ 53,000 ตัน โดยนำเข้ามาบำบัดและแปรรูปในโรงงานที่ได้รับการอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 7 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 148 โรงงานที่มีการรไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่เป็นทั้งโรงงานกำจัด โรงงานคัดแยก และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำมากลับไปใช้ใหม่ และส่วนใหญ่ขยะดังกล่าวกว่า 98% ประกอบด้วย 3 ชนิด ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือ 2. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. คอมพิวเตอร์ โดยในปีที่ผ่านมาพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามารีไซเคิลมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศฮ่องกง และประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแยกองค์ประกอบตามประเภทของวัสดุ ได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้ วัสดุโลหะ (เหล็ก อลูมิเนียม และโลหะอื่นๆ) ประมาณร้อยละ 58 วัสดุประเภทพลาสติก ประมาณร้อยละ 40 ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะถูกนำมาอัดเป็นก้อน เพื่อเตรียมพร้อมส่งจำหน่ายต่อไปยังโรงงานที่มีศักยภาพ เช่น โรงหลอมโลหะ หรือโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โดยราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับราคาการซื้อขายเศษวัสดุในท้องตลาด และอีกประมาณร้อยละ 2 เป็นวัสดุชิ้นส่วนและแผงวงจรไฟฟ้า (PCBA) มีทั้งเป็นชิ้นส่วนชนิด High grade ได้แก่แผงวงจรจากอุปกรณ์ไอทีขนาดเล็ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และชิ้นส่วนชนิด Low grade ได้แก่แผงวงจรจากอุปกรณ์อื่นๆ จำพวก Power supply ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อนหรือเครื่องซักผ้า หลังจากการดำเนินการถอดแยกตามเกรดแล้ว จะส่งเข้าสู่กระบวนการบดย่อยเพื่อลดขนาดและเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการหลอมและสกัดโลหะมีค่า อาทิ ทองคำ ทองแดง เพื่อนำสู่กระบวนการผลิตเดิมในโรงงาน
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานฯ ได้มุ่งส่งเสริมการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดมาตรการและขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตโรงงาน เพื่อประกอบกิจการกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 4 มาตรการ ดังนี้
ด้าน นายโนริโยชิ โทซึคะ กรรมการผู้จัดการบริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ส่วนใหญ่ชิ้นส่วนซากอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทนำมาคัดแยกและบดย่อยประกอบด้วย โลหะ แผงวงจร และแผงวงจรที่มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ติดอยู่ระหว่างกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ ยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการกำจัด-บำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 1000 ตันต่อเดือน และยังมีนวัตกรรมในการบดย่อยด้วยรถโมบายล์ที่นำมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยได้ออกแบบให้ผนังภายในเป็นผนังกันเสียง มีการติดตั้งเครื่องบดย่อยที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ภายในรถยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงาน เครื่องเก็บฝุ่นที่เกิดจากการบดย่อย และสามารถบดย่อยได้ตั้งแต่ต้นทางการรับซากอิเล็กทรอนิกส์จากผู้กำเนิด การหลอมโลหะด้วยการเตาเผาที่สามารถบำบัดจากควันให้เป็นไอน้ำในขั้นตอนเดียว ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ
นายโทซึคะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมกับกรมโรงงานฯ ในการพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 แบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Auto E-License) ที่จะอำนวยสะดวก รวดเร็วจะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมบางรายกรณีที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ในการจัดเก็บกากอุตสาหกรรมและรองรับภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัว และส่งเสริมให้กากอุตสาหกรรมเข้าระบบมากขึ้น นอกจากนี้ จากความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ยังเป็นผลให้โรงงานไม่เคยถูกร้องเรียนจากประชาชนหรือชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควบคู่กับการทำธุรกิจที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมาย และหลักเกณฑ์อื่นๆอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02202 4017 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
กรอ. เดินเครื่องโรงงานทั่วไทยสู่ “สมาร์ทแฟคตอรี่” พร้อมป้อน 5 มาตรการส่งเสริม
เติมระบบดิจิทัล – พลังงาน – สิ่งแวดล้อม หนุนความเชื่อมั่นสู่ภาคอุตฯ
กรอ.เร่งระบบติดตามกากขยะโรงงานทั่วไทย พร้อมหนุน 7,800 โรงงานหันใช้สมาร์ทบอยเลอร์กว่า 1.3 หมื่นเครื่อง คาด 5 ปี ประหยัดกว่า 1 พันล้าน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งยกระดับโรงงานไทยให้ก้าวสู่ Smart Factory โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562 ได้จัดมาตรการส่งเสริม 5 ด้าน ได้แก่ 1.การลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ 2. การผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนเพื่อขยายการลงทุน 3.การสนับสนุนระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ 4.การส่งเสริมการจัดการด้านพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม 5.การจัดทำระบบกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ได้ กว่า 1,000 โรงงาน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อยกระดับการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติเป็น Smart Factory มากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เตรียมแผนส่งเสริมสถานประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเร่งดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ อย่างเต็มรูปแบบผ่าน 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry 2. โครงการนำร่องการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำ 3. อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industry Town 4. โครงการขับเคลื่อน Factory 4.0 5. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 6. โครงการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิตอลแก่โรงงานอุตสาหกรรม 7. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี กรอ.คาดว่าจะยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory ได้กว่า 1,000 โรงงาน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงข้อมูลต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 0 2202-4082 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th