สยาม เนเชอรัลกับความสำเร็จคว้ารางวัลระดับประเทศ
สยาม เนเชอรัลยอดเยี่ยมรับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในงานนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2555 เป็นโดยเป็นรายแรกของประเทศ คาดปีนี้รายได้เพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีก 2 เท่า พร้อมเตรียมสร้างแบรนด์ให้แกร่งรองรับ AEC ในอนาคต
นายธนธรรศ สนธีระ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย (ครีมบำรุงผิวจากน้ำมันรำข้าว) โดยชนะเลิศอันดับ 2 ในงานนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2555 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและมูลนิธิข้าวไทย โดยความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของพนักงานทุกคน รวมทั้งบริษัทมีที่ปรึกษาที่ดีคือ ดร.ประเทืองศรี สินชัยศรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง (พืชและน้ำมันหอมระเหย)
สำหรับนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับรางวัลคือการนำเนยเทียมจากน้ำมันรำข้าว มาประยุกต์ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเป็นครั้งแรก โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้สูงและมีคุณค่าทางการบำรุงผิว อาทิ มีวิตามินอีจากธรรมชาติสูง มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวี เป็นต้น โดยเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำและบริษัทนับได้ว่าเป็นผู้ผลิตแรกของประเทศไทย
“แบรนด์ที่ได้รับรางวัลคือ “COLUMBUS “ หรือ COUMBUS ORGANIC RICE BRAND OIL BODY BUTTER เราใช้วลาพัฒนา 6 เดือน โดยเป็นครีมที่มีความเข้มข้นพิเศษทำให้ผิวชุ่มชื้นและรักษาความชุ่มชื่นตลอดเวลา มากกว่าโลชั่นธรรมดาหลายเท่าและมีน้ำเป็นส่วนผสมน้อย เราค่อนข้างพิถีพิถันในเรื่องแพ็คเกจจิ้งและเรื่องคุณภาพ เพราะเราวางเป้าหมายให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้กรรมการที่ตัดสินรางวัลก็ชมว่าแพ็คเกจจิ้งของเราสวยไม่ต่างจากของต่างประเทศ เรามีความภูมิใจที่สามารถพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นไปอีกระดับ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการวางจำหน่ายแต่อย่างใด คาดว่าจะเป็นประมาณกลางปีหน้าจะวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและเคาน์เตอร์แบรนด์ชั้นนำทั่วไป” นายธนธรรศกล่าว
ทั้งนี้การได้รับรางวัลดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กรโดยลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังนับเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเพราะได้รับจากมูลนิธิข้าวไทย เนื่องจากรางวัลที่ได้รับจากมูลนิธิข้าวไทยค่อนข้างยากมาก เพราะมีการตัดสินจากคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิสูงหลายท่านและมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งผลิตภัณฑ์ประกวดกับมูลนิธิข้าวไทยมาเป็นเวลา 3 ปี แล้วและใน ปี 2555 และเพิ่งจะได้รับรางวัล นอกจากนี้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริษัทยังได้รับรางวัลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 - 2548 เป็นจำนวน 11 รางวัล และอีก 2 รางวัลจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ได้แก่ 1.เนเจอร์ริช 2.M9 3. สโนว์เกิร์ล 4.COLUMBUS 5.สุพัตรา ซึ่งเป็นแบรนด์ OTOP 5 ดาว โดยเป็นแบรนด์แรกในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระหว่างปีที่ 2 และ 3 ต่อมาจึงเริ่มขยับมาเป็น SME โดยเพิ่มช่องทางแบรนด์ตามกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้บริษัทยังมีแบรนด์ที่กำลังเปิดตัวใหม่ คือ Dr.9 กลุ่มสกินแคร์ซึ่งเป็นยากึ่งเวชสําอาง โดยเป็นโปรเจคร่วมกับคุณหมอ 9 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านจะมีความถนัดต่างกันไป โดยแพ็คเกจจิ้งอยู่ระหว่างการพิมพ์ จะวางสินค้าเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และจะจัดอยู่ในแบรนด์พรีเมี่ยมเช่นเดียวกับแบรนด์ COLUMBUS ส่วนเป้าหมายผลประกอบการในปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากปี 2554 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 2 เท่า เนื่องจากบริษัทมีการขยายแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าแบรนด์แข็งแกร่งก็จะเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
“เราอาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่ใหญ่มากแต่เราต้องครองใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราให้ได้ เพราะมีคู่แข่งที่จะคอยเข้ามาแทรกอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่กลัวเพราะมีการพัฒนาทั้งสินค้าและคุณภาพ ซึ่งเรามองว่าภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างแบรนด์และมองว่าแบรนด์สำคัญที่สุด ส่วนฐานการตลาดเราจะเน้นที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นตลาดหลักของเรา” นายธนธรรศกล่าว
ด้านหลักการบริหารงาน ตนจะเน้นความเมตตากรุณา สำหรับการทำธุรกิจตนอยากจะทำอย่างมีความสุขและมีความเมตตากรุณาต่อกันในที่ทำงาน เมื่อพนักงานมีความสุขก็จะส่งผลให้การทำงานออกมาดี และจะเป็นการส่งเสริมทำให้เกิดความสุขในที่ทำงาน รวมทั้งเป็นการลดอารมณ์ความรุนแรงของพนักงานที่มีต่อกันได้เป็นอย่างดี
นายธนธรรศ กล่าวต่อถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ว่าบริษัทมีแนวทางการรองรับโดยการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นก่อนที่จะบุกตลาด AEC จะต้องรักษาตลาดและคุณภาพในประเทศให้ดีก่อน และเมื่อรักษาคุณภาพได้ก็ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อไปให้ถึงระดับอาเซียน
“แนวโน้มการส่งออกเครื่องสำอางที่ผ่านมา ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอางเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียนหรือประมาณ 40% แต่ปัญหาคือส่งออกภายใต้แบรนด์ของประเทศอื่นๆ ไม่ใช่แบรนด์ของผู้ประกอบการประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดด้อยของผู้ประกอบการไทย และเมื่อมีการเข้าสู่ AEC แล้วจะทำให้แข่งขันลำบาก ดังนั้นเราจะต้องมีแบรนด์เป็นของตนเอง ให้ยกระดับตัวเองจากการรับจ้างผลิตเป็นเจ้าของแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ผู้ประการธุรกิจเครื่องสำอางหลายรายไม่สามารถผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ ส่งผลให้ลูกค้าต้องเลิกคำสั่งซื้อ เป็นต้น” นายธนธรรศกล่าว