NIA กางแผนครึ่งปีหลัง มุ่งพัฒนาระบบนวัตกรรมระดับภูมิภาค
NIA เดินหน้าแผนงานครึ่งหลังปี 65 สานต่อแนวคิด Deep Tech มุ่งพัฒนาระบบนวัตกรรมระดับภูมิภาค เร่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าต่อยอดนิลมังกรแคมเปญ รุ่นที่ 2 คงเป้าหมายเดิมเพื่อเฟ้นหาธุรกิจนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีหน้าที่หลักในการดำเนินงาน 5 ข้อ ได้แก่ ให้ทุนหลังงานวิจัย, สนับสนุนแนวความคิดในเรื่องนโยบายด้านนวัตกรรมเพื่อนำเสนอแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.), พัฒนาระบบนวัตกรรม, การสร้างการตระหนักรับรู้ด้านนวัตกรรม รวมทั้ง การพัฒนาเชิงสาขา โดยอำนาจหน้าที่หลักของ NIA จะครอบคลุมใน 5 ข้อที่กล่าวไปนั้น เพื่อสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานของ NIA ในครึ่งหลังปี 2565 จะดำเนินงานต่อเนื่องจากที่ได้ประกาศในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 โดยยังคงมุ่งเน้นแนวคิดในเรื่องของ “Deep Tech” (Deep Technology) ซึ่งเป็นการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 แห่งที่มีศักยภาพในการทำวิจัยระดับสูง อีกทั้ง ยังได้จัดตั้งบริษัทที่เป็น Deep Tech Startup ขึ้นมาเพื่อพัฒนาในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ เช่น SMEs ที่ได้ผ่านกระบวนการนิลมังกรมาแล้ว เพื่อสร้างการพัฒนาให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นของใหม่ ซับซ้อน คู่แข่งน้อย มีความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว
อีกทั้ง NIA ยังได้ดำเนินงานในระบบการพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ชายแดนใต้ และภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การทำงานกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น การทำงานกับสมาคมต่างๆ ในการเร่งเพื่อให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา โดยต้องใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น รวมถึง การลงทุนด้านนวัตกรรมสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบนิเวศนวัตกรรมในระดับเมืองนั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้น
“โดย NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาคให้มีความสามารถทางด้านนวัตกรรมไม่แพ้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราก็ได้มีโครงการต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในแต่ละภูมิภาค
นอกจากนี้ ในปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว ดังนั้น NIA จึงได้เร่งดำเนินการในส่วนของการเปิดเมือง โดยเฉพาะเมืองหลักด้านนวัตกรรม อาทิ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เป็นต้น พัฒนาให้ฟื้นกลับมาได้เร็วที่สุด” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานได้จัดทำโครงการการแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย หรือ “นิลมังกรแคมเปญ” ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาค (Regionalization) ที่มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาคให้เติบโตเป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ปิดโครงการของรุ่นที่ 1 ไปได้อย่างน่าพึงพอใจ และขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดโครงการในรุ่นที่ 2
โดยคำว่า “นิลมังกร” จะสะท้อนถึงผู้ประกอบการไทยที่มีความซื่อสัตย์ ความแข็งแกร่ง อดทน ไม่ย่อท้อต่อความเปลี่ยนแปลง หรือความแปรผันต่างๆ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคมที่มีการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง ซึ่งจะอาศัยอัตลักษณ์ของพื้นที่จนสามารถสร้างมูลค่า และตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับท้องถิ่น และเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง
สำหรับการดำเนินโครงการในรุ่นที่ 2 NIA จะนำบทเรียนที่ได้รับจากรุ่นที่ 1 มาปรับเปลี่ยน หรือปรับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในด้านของผลลัพธ์ที่จะได้รับ NIA จะยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายเดิม เพื่อเฟ้นหาธุรกิจนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย พร้อมสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจด้วยโปรแกรมการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึกในด้านนวัตกรรม การบริหารจัดการ และการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ